แค่ล้างมือ ก็สามารถป้องกันโรคได้ จริงหรือไม่?

แค่ล้างมือ ก็สามารถป้องกันโรคได้ จริงหรือไม่?

"มือ" เป็นอวัยวะที่สำคัญ เป็นอวัยวะที่เราใช้หยิบ จับ สัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัว และเป็นตัวกลางหรือพาหะที่สำคัญเช่นกันในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะเราใช้มือทำงานตลอดเวลาทำให้มีโอกาสสัมผัสสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งสกปรกอื่นๆ จากนั้นเราก็ใช้มือสัมผัสตัวเราเองด้วยโดยธรรมชาติและใช้มือหยิบจับอาหารรับประทานด้วยเช่นกัน มือจึงเป็นอวัยวะที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายที่สุดและสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ ไปยังสิ่งของต่างๆ ที่เราสัมผัสได้ตลอดเวลา

การปฏิบัติตามแนวทางของสุขบัญญัติแห่งชาติในเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล การดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธีจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายของเราได้ ซึ่งองค์การสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เล็งเห็นความสำคัญของการล้างมือ จึงได้กำหนดให้ วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันล้างมือโลก" (Global Hand Washing Day ) เพื่อรณรงค์และกระตุ้นเตือนให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำและเป็นการสร้างวัฒนธรรมการล้างมือที่สะอาดถูกหลักสุขอนามัยในประชากรทั่วโลก เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ช่วยลดอาการป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่สำคัญ เช่น

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม วัณโรค โรคหัด ซึ่งนอกจากติดต่อผ่านการหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไปแล้ว ยังติดต่อได้จากการที่มือสัมผัสกับสิ่งของ เครื่องใช้ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย (น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เลือด)

โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาห์ตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคตับอักเสบชนิดเอ และโรคพยาธิ โดยติดต่อจากการใช้มือที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านั้นหยิบจับอาหารรับประทาน

โรคติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง ได้แก่ โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เริม  โดยติดต่อจากมือที่ไปสัมผัสแผล ฝี หนองโดยตรง แล้วมาสัมผัสกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย

โรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบในเด็กเล็ก โดยติดต่อจากการสัมผัสกันโดยตรงหรือสัมผัสของเล่น ของใช้ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคภายในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล

แค่ล้างมือ ก็สามารถป้องกันโรคได้ จึงเป็นความจริง เพราะการป้องกันการติดเชื้อจากโรคต่างๆ ดังกล่าว คือการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคนั้นเข้าสู่ร่างกายของเราทางผิวหนัง ทางปาก ทางตา หรือทางเดินหายใจ ซึ่งวิธีที่ดีสุด ทำได้ง่าย ๆ และประหยัดที่สุด ก็คือ การล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี ด้วย 7 ท่า 2 ก่อน และ 5 หลัง ดังนี้

ล้างมือ 7 ท่า หรือ 7 ขั้นตอน

ท่าที่ 1 ใช้ฝ่ามือถูกัน
ท่าที่ 2 ใช้ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว
ท่าที่ 3 ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว
ท่าที่ 4 ใช้หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
ท่าที่ 5 ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ
ท่าที่ 6 ใช้ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ
ท่าที่ 7 ถูรอบข้อมือ

โดยทุกท่า ต้องทำ 5 ครั้ง และทำสลับกันทั้งสองมือ จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด และเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือกระดาษเช็ดมือ

ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องล้างมือให้สะอาดถึง 7 ท่า เนื่องจากเป็นการทำความสะอาดมือทุกซอกทุกมุม โดยเฉพาะบริเวณที่มักจะล้างมือไม่ทั่วถึง เช่น ซอกนิ้ว ปลายนิ้ว และหลังมือ

ล้างมือ 2 ก่อน คือ ล้างมือทุกครั้ง ก่อนเตรียมอาหาร-ปรุงอาหาร และล้างมือทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก
ล้างมือ 5 หลัง คือ ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ หลังใช้มือหยิบจับ-สัมผัสสิ่งปกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วยในสถานพยาบาล
หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง และหลังกลับจากนอกบ้าน เช่น กลับจากโรงเรียนหรือกลับจากการทำงานนอกบ้าน

เราทุกคนควรตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามแนวทางของสุขบัญญัติแห่งชาติ ในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่ หากปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดเป็นสุขนิสัยในชีวิตประจำวัน จะทำให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีและมีการปลูกฝังให้เกิดสุขนิสัยในการล้างมืออย่างถูกวิธีในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม อันจะเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารเพิ่มเติม

Cr. healthydee.moph.go.th