วัยทองส่งผลอย่างไรต่อร่างกายผู้หญิง
ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และอารมณ์แปรปรวน นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว ภาวะวัยทองยังส่งผลต่อร่างกายผู้หญิงอย่างไรบ้าง บีบีซีมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์
วัยทอง (Menopause) คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยรังไข่หยุดการผลิตไข่ ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี
- ความจริงเรื่องวัยทอง มนุษย์เมนส์ และการกีดกันทางเพศ
- ถ้วยรองประจำเดือน หนทางยุติความขัดสนผลิตภัณฑ์สำหรับวันนั้นของเดือน
- ประสบการณ์สาวไทยผู้สลัดผ้าอนามัยมาใช้ถ้วยรองประจำเดือน
การที่รังไข่หยุดทำงานทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า "เอสโตรเจน" ได้น้อยลง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่อาการไม่พึงประสงค์ช่วงวัยทองอาจหายไปเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรืออาจคงอยู่ไปตลอดจนสิ้นอายุขัยก็ได้

"วัยใกล้หมดประจำเดือน"
ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้หญิงกำลังย่างเข้าสู่วัยทองนั้น อาจจะแสดงอาการล่วงหน้าประมาณ 3-4 ปี คือก่อนที่รังไข่จะหยุดทำงาน และหยุดผลิตฮอร์โมน นั่นคือ ประจำเดือนจะเริ่มมาผิดปกติ เช่น จะมาเดือนละ 2-3 ครั้ง หรือมาบ้างไม่มาบ้าง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารังไข่ทำงานน้อยลง
แต่หากประจำเดือนขาดหายไปนาน 1 ปีเต็ม ก็แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานแล้ว และถือว่าได้เข้าสู่วัยทองอย่างสมบูรณ์ โดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือน เมื่ออายุประมาณ 48-50 ปี
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางร่างกายของผู้หญิงทำให้ภาวะหมดประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยผู้หญิงประมาณ 15-20% จะไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ นอกจากประจำเดือนหมดไปเฉย ๆ
อาการที่คนวัยทองพบบ่อย ได้แก่
- ร้อนวูบวาบ หนาว ๆ ร้อน ๆ
- ชาตามปลายมือ ปลายเท้า
- หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ใจน้อย ซึมเศร้า
- ช่องคลอดแห้ง แสบ บางรายมีอารมณ์ทางเพศลดลง
- ปัสสาวะบ่อย และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ผิวหนังแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง
- มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ
- อ้วนขึ้น เพราะระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปนานแล้ว มักพบปัญหากระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองเสื่อม


คำแนะนำสำหรับสตรีวัยทอง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำการปฏิบัติตนสำหรับสตรีวัยหมดประจําเดือน เช่น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้
- ออกกําลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดปัญหานอนไม่หลับ ทําให้อารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งยังทําให้กระดูก และสุขภาพแข็งแรงขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลา ผัก และผลไม้ เพื่อปรับฮอร์โมนให้คงที่ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และควรเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนจากธรรมชาติด้วยการรับประทานอาหารจําพวกถั่วเหลือง หรือพืชผักใบเขียว เพื่อช่วยลดอาการหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน
การรักษา
หากมีอาการเพียงเล็กน้อยก็มักจะหายไปเองตามธรรมชาติ โดยให้รักษาไปตามอาการ แต่หากอาการรุนแรงโดยเฉพาะอาการร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาก ก็ควรได้รับฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดอาการ
อย่างไรก็ตาม อาการของสตรีวัยหมดประจําเดือนไม่ใช่อาการร้ายแรง และไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป แต่สิ่งที่ผู้หญิงวัยนี้ควรหมั่นสังเกต คือ หากว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย หรือออกนานกว่าปกติควรไปพบแพทย์
ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีภาวะวัยทอง
เมื่อปี 2018 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษได้ค้นพบว่า นอกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด ได้แก่ มนุษย์ วาฬนำร่องครีบสั้น และวาฬเพชฌฆาตแล้ว ยังมีสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นคือวาฬเบลูกา และวาฬนาร์วาล ที่เพศเมียเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนได้เมื่ออายุมากขึ้น
Cr. bbc.com