เกร็ดความรู้การดูแลสุขภาพ

  ร่างกายมนุษย์เรา ถ้ามีการเอาใจใส่และให้ความสำคัญและใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพ ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดโรคนั้นน้อย  รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์และความประพฤติต่างๆ ที่ไม่ดี ก็เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและทำให้เกิดโรคขึ้นได้ ดังนั้นการที่มนุษย์เรามีการกระทำที่ฝ่าฝืน กับสภาวะที่ควรจะเป็นของร่างกาย และขาดความรู้ในการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาและเกิดโรคขึ้น รวมทั้งมีองค์ประกอบเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆที่เอื้อต่อปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังนี้ คือ

  - การบริโภคอาหาร  การบริโภคอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ และอาหารเป็นปัจจัยหลัก ที่ก่อให้เกิดพลังงานต่างๆ แก่การดำรงชีวิต เพราะถ้ามนุษย์เราขาดการบริโภคอาหาร และขาดความระมัดระวัง ในการใช้สติปัญญา ความรู้ ในการบริโภคอาหารที่ถูกวิธี  โดยมีการบริโภคอาหารที่มากเกินกว่าปกติ หรือน้อยเกินกว่าปกติ โดยไม่รู้การประมาณการ ในอาหาร ว่าตนเองควรบริโภคเพียงไร  หรืออาหารที่ทานนั้นมีประโยชน์หรือ ก่อให้เกิดโทษ  เป็นของบูดของเสีย และบางอย่างควรเป็นอาหารที่ต้องทำให้สุกเสียก่อนจึงจะบริโภค แต่ไม่ทำให้สุก  หรืออาหารที่มีรส แปลกกว่าที่ตนเคยบริโภค ก็บริโภค จนเกินขนาดไป ไม่ชิมดูแต่พอรู้รส และการบริโภคอาหารที่ไม่ตรงกับเวลาที่เคยทาน  เช่น ตอนเช้าเคยบริโภคอาหาร แต่ก็ไม่บริโภค  ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนเวลาบ่าย  การที่บริโภคอาหารโดยสภาพนี้  ย่อมมีผลทำให้เกิดความไม่ปกติของธาตุ ในร่างกายเราทำให้เกิดแปรปรวนได้  และทำให้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคตามมาอย่างมากมาย

  - การดำเนินอิริยาบถในแต่ละท่วงท่าของร่างกาย   มนุษย์เราควรใช้อิริยาบถ ในแต่ละห้วงเวลา ให้มีการผลัดเปลี่ยน หมุนเวียน กันตามปกติ คือ อิริยาบถ  4  อย่าง  คือ  นั่ง  นอน  ยืน  เดิน  ถ้ามีพฤติกรรมการดำเนินอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ใช้ระยะเวลาที่มากเกินไป  โดยไม่ใช้ร่างกายให้ผลัดเปลี่ยน และเคลื่อนไหวแต่ละท่วงท่า ในแต่ละอิริยาบถ ให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง   ร่างกายนั้นก็จะเกิดปัญหาและมีสภาวะเปลี่ยนแปลง ไปจากปกติ และเป็นปัจจัยสาเหตุทำให้เกิดโรคได้  เช่น โรคอาการปวดเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย คือ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดแขน ปวดขา ปวดบ่า  โรคออฟฟิศซินโดรม

  - การกระทบความร้อนและความเย็น  ร่างกายมนุษย์เราที่เคยอยู่ในที่อากาศร้อน และเปลี่ยนแปลงไปถูกอากาศเย็นมากไป หรือเคยอยู่ในที่อากาศเย็น เปลี่ยนไปถูกอากาศที่มีความร้อนมากไป ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพร่างกาย  เช่น เคยอยู่ในร่ม และต้องออกไปอยู่ที่กลางแจ้งเวลาแดดร้อน จัดไม่มีอะไรกำบัง หรือไม่มีที่พอจะกำบังได้  หรือเคยอยู่ในที่โล่งอากาศเย็นสบาย และไปอยู่ในที่อับ ร้อน อบอ้าว ร้อนมากเกินไป  หรือผู้ที่ร่างกายต้องไปถูกฝนและยังต้องลงไปแช่อยู่ในน้ำนานๆ ร่างกายก็มีผลกระทบ จากความเย็น  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้

  - การอดนอน อดข้าว  อดน้ำ  ปัจจุบันนี้ คนเราเมื่อถึงเวลานอน พักผ่อน มักไม่ยอมนอน อันเป็นการทรมานร่างกาย และทำอยู่บ่อยๆ จนเคยชิน จนเข้านอน ช้าเกินกว่าเวลาอันสมควร  รวมทั้งตอนเช้าต้องมีภาระหน้าที่ต้องไปทำงาน ต้องตื่นแต่เช้า ทำให้การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ  หรือถึงเวลากินข้าวแต่ไม่ยอมกินโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็นต้องอดข้าว  และรวมทั้งมีการดื่มน้ำที่น้อยเกินไป  หรือไม่ยอมดื่ม เพราะกลัวว่าถ้าดื่มน้ำจะทำให้ปัสสาวะบ่อย  สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดโรค

  

  - การกลั้นอุจจาระ และ ปัสสาวะ ตามธรรมดาของร่างกาย มนุษย์เรา เมื่อถึงเวลา อุจจาระ ปัสสาวะ จะต้องรีบดำเนินการขับถ่าย เพื่อนำของเสียเหล่านั้น ทิ้งออกจากร่างกายโดยเร็ว  แต่ถ้าเมื่อถึงคราวจะอุจจาระ ปัสสาวะ และเราพยายามกลั้นไว้ ไม่ให้ขับออกจากร่างกาย ปล่อยให้ระยะเวลา ล่วงเลยเวลาไปมากกว่าสมควรของความเป็นปกติ และมีพฤติกรรมทำบ่อยๆ จนเป็นปัญหากระทบต่อระบบการขับถ่าย  ย่อมทำให้ธาตุในร่างกาย เกิดแปรปรวนไปด้วย เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้จากการกลั้นอุจจาระ และปัสสาวะ

  - การกระทำที่เกินกำลังของร่างกาย  คือ การที่ร่างกายคนเรา มีข้อกำหนด สภาพขอบเขต และกำลัง ของภาวะร่างกาย แต่ถ้าเราทำการยก  แบกหาม หิ้ว ฉุด กระชาก ลาก สิ่งของ ต่างๆ ที่หนักเกินกว่ากำลังแรงของตนจะทำได้ ก็ดี หรือการวิ่ง  กระโดด ด้วยการออกกำลังกาย เกินกว่าสภาพแรงของร่างกายมากเกินไปก็ดี ย่อมทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ จึงเป็นปัจจัยสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค

  - ความเศร้าโศกความเสียใจ  บุคคลมากมาย ที่มีความทุกข์เกิดขึ้นกับตน ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ร่ำไห้ เกิดภาวะอารมณ์เก็บกด และไม่ยอมรับสภาพกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป  จนถึงกับลืมความสุขสำราญใจที่เคยมีมาก่อน  ไม่สนใจที่จะบริโภคอาหาร  เกิดสภาพความเสื่อมถอยทั้งร่างกายและจิตใจ และขาดกำลังใจจากบุคคลรอบข้าง และมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี  เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำหล่อเลี้ยงหัวใจ ที่เคยผ่องใส ก็ขุ่นมัว เหือดแห้งไป และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคขึ้นในร่างกายได้

  - ความมีโทสะ  บุคคลใด ที่มีสภาวะอารมณ์ และมีโทสะอย่าง รุนแรง เกรี้ยวกราด อยู่เสมอ ไม่มีการฝึกฝน ปรับปรุง ผ่อนคลายอารมณ์  ของสติ ที่จะยึดหน่วง ให้มีการระงับ ยับ ยั้ง ชั่งใจ อารมณ์ ไว้ให้ได้ และทำบ่อยๆ จนเคยชินเป็นนิสัย และเมื่อย่อมทำกิริยา อย่างนี้บ่อยๆ ทำให้เป็นการฝ่าฝืนร่างกาย จนละทิ้ง ความที่จะทำให้เกิดการผ่อนคลาย กับสภาพร่างกายและจิตใจ