โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

ข้อมูลโดย รศ. พญ.เกวลิน เลขานนท์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ thaihealth

      นอกจาก “โรคต้อกระจก” เป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ยังมี “โรคตาแห้ง” ซึ่งเป็นโรคของผิวหน้าดวงตาชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยลักษณะสำคัญของโรคตาแห้ง คือ การสูญเสียสภาวะสมดุลของน้ำตา ควบคู่กับการมีอาการทางตา ได้แก่ ความไม่สบายตาต่างๆ และการมองเห็นที่ผิดปกติไป

โรคตาแห้ง
โรคตาแห้ง เป็นโรคของผิวหน้าดวงตาชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยลักษณะสำคัญของโรคตาแห้ง คือ การสูญเสียสภาวะสมดุลของน้ำตา ควบคู่กับการมีอาการทางตา ได้แก่ ความไม่สบายตาต่างๆ และการมองเห็นที่ผิดปกติไป

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคตาแห้งแบ่งออกได้เป็นจาก 2 ปัจจัย คือ

- ปัจจัยภายใน ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ต่อมน้ำตาทำงานลดลง มีผลให้ตาแห้ง
  • เชื้อชาติ พบว่าในคนเอเชียมีความชุกของโรคตาแห้งมากกว่าคนผิวขาว
  • โรคประจำตัวทางกายบางชนิด ได้แก่ โรคภูมิคุ้มกันไวเกิน โรคโจเกรน โรคเอสแอลอี และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
  • โรคทางตาบางชนิด ได้แก่ โรคเปลือกตาอักเสบ และโรคภูมิแพ้ที่ตา เป็นต้น

- ปัจจัยภายนอก ได้แก่

  • การใช้ยาบางประเภท ทั้งในรูปแบบยารับประทาน หรือยาหยอดตา
  • การผ่าตัดทั้งภายในและภายนอกดวงตา ได้แก่ การผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดต้อกระจก และการผ่าตัดหนังตา เป็นต้น
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก
  • การใช้สายตากับเครื่องมือดิจิตอล ได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์
  • การใส่คอนแทคเลนส์

อาการ

อาการของโรคตาแห้งมีหลากหลาย ตั้งแต่อาการแสบตา ขัดเคืองตา เหมือนมีฝุ่นในตา รู้สึกว่าตาแห้ง ลืมตาไม่ค่อยขึ้น สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล หรือเมื่อยล้าดวงตา ซึ่งอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นอาจมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคผิวหน้าดวงตาอื่นๆ แต่สิ่งที่ช่วยสนับสนุนว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรคตาแห้งคือ อาการดังกล่าวนี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นต่ำ หรือเมื่อต้องใช้สายตาเป็นระยะเวลายาวนาน

การรักษา

การรักษาโรคตาแห้งนั้นควรแก้ไขที่สาเหตุของโรคก่อน ร่วมกับการรักษาอาการของโรค และการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค แต่หากไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุของโรคได้ จำเป็นต้องรักษาที่ตัวโรคตาแห้งอย่างเดียว

โดยในเบื้องต้นสามารถรักษาโรคตาแห้งด้วยการใช้น้ำตาเทียม เพื่อช่วยให้ตามีความชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนี้อาจใช้ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา เพื่อช่วยให้ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตาออกมาได้ดีขึ้น ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องรับการอุดท่อทางออกของน้ำตา หรือการผ่าตัดอื่นๆ เพิ่มเติม

การปรับสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

ใช้สายตาให้ถูกวิธี องค์การอนามัยโลกแนะนำสูตรในการถนอมดวงตาคือ สูตร 20 : 20 : 20 กล่าวคือ ใช้สายตา 20 นาที พัก 20 วินาที โดยการมองไปที่ไกลๆ ประมาณ 20 ฟุต และควรกะพริบตาบ่อยๆ เพื่อไม่ให้น้ำตาระเหยจากผิวหน้าดวงตามากเกินไป

  • จัดคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาที่พอดี ไม่ต้องก้ม หรือแหงนหน้ามองจอคอมพิวเตอร์
  • หลีกเลี่ยงการหันเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเข้าสู่ใบหน้าโดยตรง
  • การปรับความชื้นในสภาพแวดล้อมที่ทำงานและที่บ้าน
  • การใส่แว่นป้องกันดวงตา เพื่อช่วยลดการปะทะของดวงตากับอากาศที่แห้งๆ

    Cr. thaihealth.or.th