เท้าชาจากเบาหวานดูแลอย่างไร

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์

เท้าชาจากเบาหวานดูแลอย่างไร thaihealth

แฟ้มภาพ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทจากโรคเบาหวานมีหลายรูปแบบ ในกรณีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทส่วนปลายจากโรคเบาหวาน หรือบางคนอาจเรียก "เบาหวานลงเท้า" ภาษาทางการแพทย์เรียก diabetic polyneuropathy จะมีอาการแสดงได้หลากหลาย ในระยะแรก บางรายจะมาด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือน โดนน้ำร้อนลวกบริเวณเท้าทั้งสองข้าง หรือ บางรายอาจมีอาการปวดแปลบ ๆ คล้ายเข็มตำบริเวณเท้าหรือเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต 

ส่วนใหญ่มักมีอาการตอนกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ถ้าเป็นรุนแรงก็อาจมีอาการทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางรายกลายเป็นโรคซึมเศร้า อาการเหล่านี้สามารถรักษาหรือบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาร่วมกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อย่างไรก็ตาม อาการ "เบาหวานลงเท้า" ที่พบบ่อยกว่า คือ อาการชาโดยเริ่มที่บริเวณเท้าทั้งสองข้างก่อน แล้วค่อย ๆ ลุกลามไปยังมือทั้งสองข้าง อย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ความรุนแรงของอาการชามีตั้งแต่อาการน้อยมาก ๆ คือ ไม่รู้สึกว่าชา ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ ไปจนถึงอาการรุนแรง คือ ชามากจนไม่รู้สึกสัมผัส ซึ่งในบางรายอาจมีปัญหาต่อการเดินและการทรงตัว ทำให้หกล้มได้ง่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงระวีวรรณ เลิศวัฒนารักษ์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงอาการเท้าชา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เกิดในผู้เป็นเบาหวานได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อเป็นเบาหวานมานาน ๆ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีนัก เกิดขึ้นจากระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ทำให้สูญเสียประสาทรับความรู้สึก ลักษณะอาการเท้าชาที่เกิดจากโรคเบาหวาน มักจะมีอาการชาหรือคล้ายเป็นเหน็บและความรู้สึกสัมผัสลดลง ทำให้เมื่อเท้าสัมผัสของมีคม จะไม่รู้สึกเจ็บ อาการเท้าชาที่เกิดขึ้นมักจะมีอาการทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน และเริ่มชาจากปลายนิ้วเท้าก่อน แล้วเริ่มชาไล่ขึ้นไปบริเวณหลังเท้าและขาทั้งสองข้าง

ในกรณีรุนแรงจะมีระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อมร่วมด้วย ทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าทั้งสองข้างแห้ง ปริแตกได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง ถ้ามีระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมอยู่นาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อเล็ก ๆ บางมัดบริเวณเท้าฝ่อลง เกิดเท้าบิดผิดรูป ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำหนักที่กดทับบริเวณฝ่าเท้าเวลาเดิน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่เท้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดนิ้วเท้าหรือขา โดยเฉพาะถ้ามีความผิดปกติของหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอาการชา หรือ ระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม ได้แก่ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดี การสูบบุหรี่ ระดับไขมันในเลือดสูง และ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นการรักษาที่สำคัญคือ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ งดการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในรายที่มีอาการชามาก ๆ แล้ว การรักษามักไม่ได้ผลดี การรับประทานวิตามินบีมักไม่ช่วยทำให้อาการชาดีขึ้น เพราะอาการชาไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามิน ยารักษาปลายประสาทอักเสบบางชนิดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้บ้างแต่ไม่สามารถทำให้อาการชาหายไปได้ 

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม ส่วนยาสมุนไพร อาหารเสริม ยาลูกกลอน ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันถึงประสิทธิภาพในการลดอาการดังกล่าว นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้วนั้น เมื่อมีอาการเท้าชา อาจเกิดแผลโดยไม่รู้สึกตัวได้ ดังนั้นควรทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อน วันละสองครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอนทุกวัน ทำความสะอาดทุกครั้งที่เท้าเปื้อนสิ่งสกปรก เช็ดเท้าให้แห้งทันทีรวมทั้งบริเวณซอกนิ้วเท้า ตรวจเท้าก่อนนอน สำรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน เพื่อดูว่ามีแผลขนาดเล็ก ๆ หนังด้านแข็ง ตาปลา รอยแตกหรือการติดเชื้อราเกิดขึ้นหรือไม่ ตรวจสอบรองเท้าก่อนการสวมใส่เสมอเพื่อดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งอาจทำอันตรายต่อเท้าและเกิดแผลได้

สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า เลือกใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้าและทำจากวัสดุที่นุ่ม ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น ไม่มีตะเข็บหรือมีตะเข็บน้อย และมีเชือกผูก เพื่อให้ปรับความพอดีกับเท้าได้ หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่ทำด้วยยางหรือพลาสติกและรองเท้าแตะประเภทที่ใช้นิ้วเท้าคีบสายรองเท้า เนื่องจากทำให้มีโอกาสเกิดการเสียดสีเป็นแผลได้ง่าย ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อน หรือใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนวางที่เท้า ดูแลเท้า  เล็บเท้า และตัดเล็บเท้าโดยผู้ชำนาญอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันเล็บขบ การอักเสบของนิ้วเท้า ห้ามตัดตาปลาหรือหนังด้านแข็งด้วยตนเอง

การรักษาระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมจากโรคเบาหวานที่เป็นมานานแล้ว มักได้ผลการรักษาไม่ดี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนชนิดนี้ หรือ กรณีเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว การให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกมักจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โดยพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจประเมินระดับความรู้สึกที่เท้า โดยใช้เครื่องมือการตรวจที่ได้มาตรฐาน (monofilament test) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามแพทย์แนะนำ รวมทั้งควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้น และหากพบมีแผล แม้เพียงเล็กน้อย ให้ทำความสะอาดแผลทันที ในกรณีแผลไม่ดีขึ้นหรือไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ

Cr. thaihealth.or.th