การแพทย์แผนไทย กับสมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด-19

การแพทย์แผนไทย กับสมุนไพรไทย สู้ภัยโควิด-19

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการ “การแพทย์แผนไทย กับ สมุนไพรไทยสู้ภัยโควิด-19”

โดย...มูลนิธิมิลเลี่ยนแฮนด์ส

 

หลักการและเหตุผล

จิรเวชชาญไชย คลินิกการแพทย์แผนไทย เป็นสถานพยาบาลที่เปิดให้การรักษาผู้ป่วย มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554   นับเป็นระยะเวลากว่า  10 ปี   และมีแพทย์แผนไทย คือ ดร. นิธิวัสตร์ โฆษิตจิรโชติ เป็นแพทย์ประจำสถานพยาบาลนี้ และมีประสบการณ์ในการให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งทั่วโลกและในประเทศไทยและ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อสังคมโลก จากสถิติ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. พบว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก เป็นจำนวนสูงถึง 204,099,590 คน จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 523,408 คน ผู้เสียชีวิตสะสมจำนวน 4,315,573 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8,040 คน  สำหรับประเทศไทยเรา ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 08.37 น. มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 816,989 คน  จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,038 คน  มีผู้เสียชีวิตสะสมจำนวน 6,588 คน และผู้เสียชีวิตรายใหม่จำนวน 207 คน

สถานการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับทุกๆ ประเทศในโลก และส่งผลทั้งทางด้านเศรษกิจ และสังคมในภาพกว้าง หลากหลายมิติ  อีกทั้งเชื้อโควิด มีการพัฒนาสายพันธุ์แตกต่างออกไปอย่างมากมาย ทำให้หลาย ๆ ประเทศพยายามที่จะแสวงหาวิธีที่จะหยุดยั้งเชื้อโควิด   สำหรับประเทศไทยในสภาวะเช่นนี้ ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิดในระลอก 3 คือตั้งแต่เดือน เมษายน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนไทยเป็นจำนวนมากเรื่อยมา ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ หลาย ๆ คนเกิดความเครียด ความวิตกกังวล มีความหวาดกลัวจากการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดในแต่ละวัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีแนวโน้มจะลดน้อยลง  ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์เหล่านี้ค่อย ๆ เข้ามาใกล้ตัวขึ้นทุกที  จนมีหลายคนที่ต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงที่มีญาติพี่น้องที่อยู่ในบ้านเดียวกันเป็นผู้ติดโควิด  และที่สุดก็ต้องเจอกับตัวเอง คือเป็นผู้ติดโควิดเอง

เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโควิด พท. ดร. นิธิวัสตร์ โฆษิตจิรโชติ แพทย์แผนไทยประจำ จิรเวชชาญไชย คลินิกการแพทย์แผนไทย และเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมิลเลี่ยนแฮนด์ส ได้เข้าร่วมกับสมาคมพัฒนาการแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ เพื่อให้บริการรักษาผู้ประสบปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคโควิด โดยมีการจ่ายยาสมุนไพรให้กับผู้ป่วย

ต่อมา พท. ดร. นิธิวัสตร์ โฆษิตจิรโชติ ผู้อำนวยการมูลนิธิมิลเลี่ยนแฮนด์ส ซึ่งเป็นแพทย์แผนไทย และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรหลากหลายชนิดในการรักษาผู้ป่วยและมีประสบการณ์มามากกว่า 10 ปี ในการใช้ยาสมุนไพรเพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ตกลงร่วมมือกับ  จิรเวชชาญไชย คลินิกการแพทย์แผนไทย โดยจัดตั้งโครงการ “แพทย์แผนไทย กับ สมุนไพรไทยสู้ภัยโควิด-19” นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่เจ็บป่วย  และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดอีกแนวทางหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19
  2. เพื่อทำการรักษา จ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19โดยใช้สมุนไพร
  3. เพื่อติดตามและประเมินผลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยสอบถามอาการอย่างต่อเนื่อง
  4. เพื่อให้มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับอาการของการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการป้องกัน ดูแล และปฏิบัติตนในระหว่างการรับประทานยาสมุนไพรเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่เป็นผลดีต่อร่างกาย
  5. เพื่อเก็บข้อมูลด้วยวิธีการจัดการความรู้ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และนำมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งสามารถนำความรู้นี้มาต่อยอด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความรู้ต่อไป
  6. เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ และคุณสมบัติที่หลากหลายของสมุนไพรต่อการนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามารถเกิดการต่อยอด และมีการบูรณาการความรู้ต่อไป

การดำเนินการ                                                                                                               

  1. เปิดบริการให้คำปรึกษา
  2. ทำประวัติผู้ป่วย
  3. จัดส่งยาสมุนไพรให้ผู้ป่วยแต่ละคน ถึงที่บ้าน หรือญาติผู้ป่วยมารับยาด้วยตัวเองโดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น
  4. ติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละคนเป็นระยะ ๆ โดย พท. ดร. นิธิวัสตร์ โฆษิตจิรโชติ  เป็นผู้ติดตามซักถามอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง

ผู้ดำเนินการ

พท. ดร. นิธิวัสตร์ โฆษิตจิรโชติ  และทีมงานมูลนิธิมิลเลี่ยนแฮนด์ส

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

            ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ได้รับประทานยาสมุนไพร  และมีส่วนทำให้ร่างกายมีความสามารถจัดการแก้ไขอาการที่ไม่พึงประสงค์ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด  คือ  อาการไอ มีเสมหะ เจ็บคอ มีไข้ จมูกไม่ได้รับกลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส  และสามารถแก้ไขบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ และกลับมาดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข

การประเมินผล

ผู้ดำเนินการในโครงการนี้ จะทำการประเมินผลจากการรายงานผลของผู้ป่วย หลังจากได้รับการรักษาโดยผ่านทางไลน์กลุ่ม  นอกจากนี้จะทำการสัมภาษณ์ ผู้ป่วย จากประสบการณ์จริง (ตามความสมัครใจ) เพื่อถ่ายทอดทาง Facebook ของมูลนิธิฯ อันจะเป็นประโยชน์ของสาธารณชนต่อไป